Chang ge xing (Song of the long March)
Song of the Long March มีชื่อในภาษาจีนว่า Chang Ge Xing และในภาษาญี่ปุ่นว่า Chouka kou เป็นการ์ตูนที่วาดและแต่งโดยนักเขียนการ์ตูนชาวจีนที่ใช้นามปากกาว่า Xia Da เป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ เกิดที่ฮูนาน ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่นด้วยการได้ลงซีรี่ส์ในนิตยสาร Ultra Jumps ด้วยผลงานเรื่อง Confucius Didn’t Say บ้างก็แปลว่า No One Knows แต่ดิฉันก็ไม่ทราบว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้ลงนิตยสารนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะข่าวที่ตามหาได้หายากมากค่ะเนื่องจากส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาจีนและดิฉันก็อ่านไม่ออก ที่พอจะรู้ก็คือข่าวเกี่ยวกับตัวผู้เขียนซึ่งเป็นสาวน้อยหน้าตาโฉมฉายนางหนึ่งที่มีใบหน้าอ่อนเยาว์เกินอายุ ตามภาพ
เซี่ย ต๋า ปัจจุบันอายุ 33 ปี @AprilXiaDa2 |
ตอนแรกที่เห็นภาพผู้เขียน(ตกใจเช่นกันค่ะ)ทำเอาดิฉันเข้าใจว่ามีผู้หญิงที่ชื่อเซี่ยด้าอีกคนหนึ่งเป็นเนตไอดอลในประเทศจีน หา… เปล่าๆ ไม่ใช่ๆ นี่แหละเซี่ยต๋า เซี่ยต๋าที่แต่งและวาดการ์ตูนเรื่องซองออฟเดอะลองมาร์ชเนี่ยแหละ!!! โอววววววววววว!!!! ดิฉันตะลึงมากค่ะเพราะการ์ตูนเรื่องนี้นอกจากภาพจะอภิมหาสวยแล้ว เนื้อหานี่เรียกว่า ไม่-ธรรม-ดา นึกว่าคนแต่งเป็นหนุ่มเข้าวัยกลางคนอายุราวสามสิบห้าถึงสี่สิบ งานอดิเรกคือการหมกมุ่นอยู่กับการอ่านตำราขงจื๊อ ตำราพิชัยสงครามซุนวู และอ่านนิยายประเภทมังกรหยก กระบี่เทพทำนองนี้ ฯ หรือพูดตรงๆคือเหลือเชื่อมาก การ์ตูนเนื้อหาหนักมากไม่แมชกับหน้าตาคนเขียนเลยค่ะ
ก่อนที่จะเข้าสู้เนื้อเรื่องย่อดิฉันจะขออธิบายประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีนที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนเรื่องนี้เพื่อให้อ่านได้เข้าใจ มีอิมเมจิ้นต่อการ์ตูน และแซ่บยิ่งขึ้น จะยาวหน่อยนะคะใครที่รู้อยู่แล้วก็ข้ามๆไปได้เลยนะคะ
*************************
ฉากของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นประเทศจีนค่ะ อยู่ที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง ในยุคแรกๆของราชวงศ์ถังคือราวๆศตวรรษที่เจ็ดนะคะ ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จักรพรรดิมีอำนาจสูงสุดทั้งในทางโลกและในด้านความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากทรงเป็นบุคคลที่เป็นโอรสจากสวรรค์ เทพเจ้าได้ประทานบุคคลผู้นี้มาดูแลทุกข์สุขของบ้านเมือง จักรพรรดิจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่และประชาชนก็จะปฏิบัติหน้าที่ตามอาชีพของตนอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมจีนจะมีน้อยมากทั้งนี้ก็เป็นเพราะแนวคิดนี้ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดขงจื้อ อย่างไรก็ดี จักรพรรดิอาจถูกโค่นอำนาจลงและเปลี่ยนให้จักรพรรดิองค์ใหม่ปกครองได้หากจักรพรรดิองค์ก่อนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทำให้สวรรค์ลงโทษผู้คนด้วยวิธีต่างๆเช่นอาจจะมีภัยพิบัติหรือทำสงครามแล้วแพ้เป็นต้น นี่เป็นแนวคิดหลักของคนจีน
ราชวงศ์ที่ปกครองกลุ่มคนจีนนั้น(ขอเรียกรวมๆว่าเช่นนี้ เนื่องจากในขณะนั้นจีนไม่มีขัณฑสีมาที่ชัดเจนแน่นอน) นักประวัติศาสตร์ได้จัดให้มีสิบราชวงศ์ ได้แก่ราชวงศ์ฉาง โจว ฉิน ฮั่น สุย ถัง ซ้อง หยวน หมิง ชิง สำเนียงการออกเสียงราชวงศ์อาจแตกต่างกันไป แต่ก็จะประมาณนี้แหละค่ะ บ้างกล่าวว่ามีอีกราชวงศ์หนึ่งที่ตั้งขึ้นมาก่อนราชวงศ์ชางคือราชวงศ์ซ้อง แต่ในตำราเรียนเขาไม่นับเป็นราชวงศ์จีนอ่ะค่ะ ลืมไปแล้วเหมือนกันว่าทำไม อาจจะไม่ใหญ่พอหรือระบอบการปกครองยังไม่มีรูปแบบเด็ดขาดเท่าไหร่ ดิฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
ราชวงศ์ถังครองบัลลังก์ตั้งแต่ปีค.ศ. 610-917 ในยุคนี้ประเทศจีนนับได้ว่าเป็นยุคทองค่ะ ทั้งในแง่การปกครอง ศิลปะวิทยาการ การค้าและศาสนาพุทธ จนถึงกับขนาดมีคำกล่าวว่า "GDP ตอนนี้ของสหรัฐซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งของโลก ยังใหญ่ไม่เท่า GDP สมัยราชวงศ์ถัง " (อ้างอิง: นิตยสารเวย์ ฉบับที่70) อีกเรื่องที่โดดเด่นก็คือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจักรพรรดินีจีนปกครองค่ะ ชื่อว่าพระนางบู้เช็กเทียนและทรงเป็นคนสนับสนุนศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการด้วย อนึ่งสมัยก่อนหน้านี้จีนไม่ยอมรับศาสนาพุทธนะคะ เพราะศาสนาพุทธขัดแย้งกับคติของขงจื๊อหลายอย่าง เช่น การไปเป็นนักบวชตามป่าและถือครองเพศพรหมจรรย์ซึ่งนับว่าเป็นการทำลายระบอบครอบครัวที่ขงจื๊อยึดมั่น และไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง หากมีคนทำมากๆเข้า สังคมก็เดือดร้อนใช่ไหมคะ ถ้ามีแต่ผู้หญิงอยู่ในเมืองมีคนมารุกรานแล้วใครจะออกไปสู้ นอกจากนี้พระนางบูเช็กเทียนไม่ได้รับศาสนาพุทธมาเพียงแค่ความศรัทธาเท่านั้น แต่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองด้วย เพราะอยู่ๆผู้หญิงขึ้นมาเป็นเหมือนฮ่องเต้ใครจะยอมรับล่ะคะ คติจีนผู้หญิงเขาอยู่บ้าน ทำงาน ช่วยครอบครัวผลิตลูกให้สามีและให้มีแรงงานในครอบครัวเพิ่มขึ้นค่ะ หญิงชายตามหลักขงจื้อจึงมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างชัดเจน แต่ในหลักพุทธแล้วหากใครมีสติปัญญาศึกษาเข้าใจหลักธรรมก็มีสิทธิเข้าสู่นิพพานได้เหมือนกันไม่ว่าจะชายหญิงหรือชนชั้นใด ตรงนี้คือจุดสำคัญที่จะเปลี่ยนแนวคิดและทัศนะคติคนค่ะ
ในจีน พวกที่ปกครองและตั้งหลักปักฐานอยู่ที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองนี้คือพวกฮั่นค่ะ เขาเหล่านี้จะทำนา ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ กลุ่มคนที่มีฐานมีบ้านอยู่กะที่ก็ดูจะพัฒนาได้เจริญกว่าคนอื่นๆ แต่ปัญหามันไม่ใช่แค่นั้นอ่ะค่ะ มันมีคนบางกลุ่มที่คิดว่า ทำไมต้องตั้งหลักปักฐานด้วยวะ? มันไม่ปลอดภัยเลยนะครัชที่จะอาศัยอยู่ที่นี่ไปชั่วกาลปวสาน เพราะแม้บริเวณแม่น้ำเหลืองแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามากๆสำหรับพวกฮั่นคือทุกๆปีแม่น้ำเหลืองมันจะท่วมค่ะ คือท่วมไม่ธรรมดาไม่กระจอกงอกง่อยเหมือนปีห้าสี่นะคะ ท่วมจริงจังค่ะ ผลผลิตทางการเกษตรก็ไหลสลายไปกับธารน้ำเหลืองๆเลยทีเดียว คนจีนเขาก็ร่ำไห้คร่ำครวญกับข้าวที่เขาอุส่าเหนื่อยล้ากายาปลูกมา เขาเลยเรียกน้ำท่วมนี้ว่าเป็นความโศกเศร้าของคนจีน(China’s sorrow)
ไอคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากเผชิญชะตากรรมแบบนี้ก็จะร่อนเร่ไปเลยและอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เรียกกันว่าชนเผ่าร่อนเร่ต่างๆ ซึ่งจะอยู่รวมๆกันในพื้นที่แถวประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน มีหลายชนเผ่าเช่นชนเผ่าเติร์ก อุยกูร์ ไนแบน คิถ่าน เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะร่อนเร่ล่าอาหารสัตว์ไปเรื่อยๆ อพยพไปตามฤดูกาลเพื่อแสวงหาที่ๆอุดมสมบูรณ์กว่ากันเป็นกองคาราวาน (ดิฉันเดาว่า น่าจะเป็นกองคาราวานอารมณ์เดียวกันกับคาลโดรโกสามีของแดเนเรียสในเกมออฟโทรนนะคะ) ในกองคาราวานนั้นๆก็จะมีหัวหน้าเผ่าอยู่ เรียกว่าข่าน ถ้าเป็นหัวหน้าที่ปกครองกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและทรงอำนาจมากที่สุดก็จะเรียกว่า เดอะ เกรท ข่าน ต่อมาเมื่อถึงฤดูหนาวหรือช่วงที่ไม่มีอะไรจะกินแล้วก็ได้ พวกที่ไม่เคยเลี้ยงสัตว์เพาะปลูกด้วยตัวเองจะเอาอะไรมากินนอกจากไปปล้นชาวบ้านมา ชาวบ้านที่ว่านั้นก็คือพวกฮั่นนั่นเอง และนี่ก็เป็นปัญหาต่อจักรพรรดิชาวจีนเรื่อยมา เพราะแม้คนจีนจะปัญญาแก่กล้าสามารถปลูกผักสร้างเข็มทิศได้มากเท่าไหร่ ไอ้พวกสุขสบายนี้รือจะไปสู้คนที่รบกันเองและล่ากันอยู่ทุกวันได้ และในที่สุดวันที่ประวัติศาสตร์จีนต้องถูกพวกมองโกลครอบครองก็มาถึง เมื่อกุบไล่ข่านสามารถโค่นจักรพรรดิจีนในราชวงศ์ซ้องลงได้และตั้งราชวงศ์ใหม่ที่ชื่อว่าราชวงศ์หยวน
กระนั้นแล้วก็มีความประหลาดอยู่ในอารยธรรมจีน น่าจะเข้ากับสำนวน When in Rome, do as Romans do ได้ ในจีนนี้พวกคนฮั่นยึดติดมากกับวัฒนธรรมจีนของตน อันเป็นวัฒนธรรมที่แสนสูงส่งเหนือสิ่งใดจะปาน พวกคนอื่นๆที่ไม่ปฏิบัติตามที่ตนยึดทำๆกันอยู่นี้เขาจะเรียกว่า “หยี” หรือพวกอนารยะชนค่ะ จะสังเกตได้ว่าทุกราชวงศ์ต่างชาติในจีนไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์หยวนหรือราชวงศ์ชิงเขาจะไม่ปกครองตามหลักเดิมอย่างที่เขาปกครองกันมาก่อนที่จะยึดจีน เขาจะปกครองแบบจีนทุกประการ ทำตัวแบบคนจีน ตั้งหลักปักฐาน นับถือขงจื๊อ ทั้งนี้ก็เพราะ หนึ่ง เพื่อทำให้คนจีนยอมรับในตัวผู้ปกครองคนใหม่ที่เป็นคนต่างชาติค่ะ เพราะจีนมีคติว่าจักรพรรดิถูกโค่นบัลลังก์ได้หากสวรรค์เห็นว่าจักรพรรดิประพฤติตัวไม่เหมาะสม คนจีนก็ไม่มีปัญหาถ้ากษัตริย์องค์ใหม่จะรักษาทำเนียมแบบก่อน อีกอย่างก็คือมันสบายค่ะ ระหว่างอยู่ในพระราชวังกับเต๊นท์มันก็เห็นๆกันอยู่ แล้วแนวคิดแบบขงจื๊อก็ดีต่อกษัตริย์ใหม่อีกด้วย จะได้ไม่มีใครอยากเลื่อนชนชั้นมาเป็นกษัตริย์ยกเว้นแต่จะสอบจอหงวนซึ่งจะทำให้ได้คนมีความสามารถ พวกที่ไม่ใช่ขุนนางเก่าจะได้ลืมตาอ้าปากเป็นใหญ่เป็นโตกับเขาก็จะสนับสนุนกษัตริย์องค์ใหม่ แบบนี้ก็คือการกลืนกลายวัฒนธรรมทำให้เป็น “จีน” ค่ะ (sinification)
ข้อมูลตรงนี้อาจมีผิดบ้างนะคะเพราะดิฉันเขียนๆมาจากที่มีอยู่ในหัวจากการฟังเลคเชอร์อาจารย์วาสนา แล้วก็อ้างอิงหนังสืออารยธรรมตะวันออกของจุฬาบางส่วนค่ะ
***********************************
เนื้อเรื่องย่อๆของเรื่องนี้ ขออภัยในการอ่านชื่อภาษาจีนผิดพลาดนะคะ
เปิดตัวมาด้วยฉากคลาสสิกคือเจ้าหญิงขี่ม้าหนีตายจากไอพวกทหารทั้งหลายที่ตามมาฆ่าตามคำสั่งของเจ้าชายหลี่ ชือหมิงอาของเธอเอง(ตามประวัติศาสตร์ก็จะกลายเป็นจักรพรรดิไท่จง) หยงหนิงเป็นธิดาของเจ้าชายลี เจียงเช็ง ซึ่งพี่น้องคู่นี้มักออกแนวทะเลาะกันบ่อยๆและพ่อของหยงหนิงรวมทั้งแม่และพี่ชายของเธอทุกคนก็ถูกฆ่าตายด้วย
ทหารตัดสินใจไม่ตามล่าหยงหนิงต่อ และเสนาบดีในราชสำนักหลายคนก็ต้องการทำให้เจ้าหญิงตายแต่ในนามเพื่อให้เธอหลบหนีไปเสีย แต่ก็ไม่ทราบว่าเพราะว่าอยากให้นางกลับมาทวงบัลลังก์หรือเป็นจิตรักใคร่สงสารกันแน่ แต่ทหารใหญ่หลายคนที่เคยเป็นครูสอนหยงหนิงมาก่อนอยากให้เธอหนีไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุข เนื่องจากหยงหนิงได้รับการศึกษาเหมือนผู้ชายคือทั้งเก่งในด้านวิทยายุทธ์และฉลาด เธอจึงไม่หยุดนิ่งเพียงแค่นี้ ด้วยความแค้นที่สั่งสมมาเธอจะต้องแก้แค้นให้ครอบครัวเธอและทวงบัลลังก์เธอมา แม้ว่าครอบครัวนี้จะไม่ใช่ครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์แบบ แต่หยงหนิงก็รักครอบครัวในแบบของเธอ(หรือจริงๆเธอแค่อยากครองบัลลังก์กันแน่ ก็สุดแล้วแต่จะคาดเดา)
เธอออกเดินทางจากเมืองฉางอาน เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ถัง ก่อนที่จะออกเดินทางก็ได้ลูกน้องเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กๆมาอย่างไม่ได้ตั้งใจคนหนึ่ง ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปจังหวัดโชวด้วยแผนการบางอย่างในใจ จังหวัดโชวในขณะนั้นมีมรสุมรุมล้อมรอบเจ้าเมืองโชวหรือนายพลกงสุงเฮงพอควร ไหนจะพวกข้าราชการฮั่นจากเมืองหลวง ไหนจะฐานะของครอบครัวตนซึ่งมีที่มาเป็นคนรับใช้ในราชวงศ์สุยมาก่อน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือการรุกรานของชนเผ่าเติร์กที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เติร์กมีกองทัพที่แข็งแกร่งมากและไม่ว่าจะขอความช่วยเหลือไปยังเมืองหลวงเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครคิดจะส่งกำลังมาให้
ดูเหมือนว่าพวกฮั่นในเมืองหลวงต้องการจะตัดหางเพื่อรักษาร่างกาย คืออยากให้นายพลยอมแพ้พวกเติร์กไปเสีย แต่นายพลผู้เป็นนักปกครองที่มีคุณธรรมไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าปล่อยให้พวกเติร์กยึดครองเมืองไปได้ คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือประชาชนที่จะต้องถูกปล้นสะดม และกลายเป็นทาสให้กับพวกนั้น ฝ่ายส่วนกลางจึงคอยกดดันทุกวิถีทางจนในที่สุดภรรยาและลูกสาวของนายพลก็ดูเหมือนจะถูกลักพาตัวไป
แต่นี่เป็นสิ่งที่หยงหนิงได้คำนวณไว้แล้ว หยงหนิงพาภรรยาและลูกสาวของเจ้าเมืองไปซ่อนในที่ปลอดภัยและปรากฏตัวต่อหน้านายพลในภายหลัง หยงหนิงแนะนำตัวเองว่าตนชื่อ หลี่ ฉางเกอด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นเหมือนเด็กผู้ชายขุนนางคนหนึ่ง เจ้าเมืองดีใจมากที่ครอบครัวตนเองปลอดภัยและยกความดีความชอบให้ลี่ แน่นอนว่าลี่จะไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือ เธอได้แสดงความสามารถทางปัญญาและการวางแผนยุทธศาสตร์การรบให้เจ้าเมืองประจักษ์ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าในที่สุด เธอจึงวางแผนการรบกับพวกเติร์กและในครั้งแรก เธอก็ชนะอย่างง่ายดาย
แต่พวกเติร์กที่เธอชนะยังเป็นแค่หนึ่งในนายพลของกลุ่มเติร์กกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่ากลุ่ม Ashina ที่ปกครองด้วย Ashina Sun Khan อาชือน่า สุ่น ผู้แข็งแกร่งรบชนะทุกผู้ทุกคนทุกนาม และมีกุนซือวางแผนการรบอันชาญฉลาดอย่าง Sir Mujin ทั้งสองต่างก็รู้ถึงการเคลื่อนไหวของนายพลคนใหม่ ลี่เองก็เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็วางแผนต่อสู้เพื่อให้ตนเองชนะและสูญเสียกำลังคนให้น้อยมากที่สุด แต่ดูเหมือนลี่จะก้าวข้ามอะไรไปบางอย่าง ลี่จะสามารถชนะพวกเติร์กได้หรือไม่ หากใช่เธอจะใช้ตำแหน่งนี้ก้าวไปไหนต่อ และท้ายที่สุดลี่จะทวงบัลลังก์ที่เธอเคยมีต่อไปได้หรือไม่ เชิญหาอ่านให้สำราญใจได้เลยค่ะ
Ashina Sun หัวหน้ากลุ่มเร่ร่อนกลุ่มหนึ่งของพวกเติร์ก แหมหล่อจังนะคะ
(ในบรรดากลุ่มเร่ร่อนทั้งหลายในมองโกล เติร์กเป็นกลุ่มที่ทรงพลานุภาพมากที่สุด และแข็งแกร่งที่สุด)
*****************************
ดิฉันชอบเรื่องนี้มากค่ะ ครั้งแรกเจอในเว็บ Mangapark ก็คลิกเข้าไปอ่านเลยเพราะเห็นภาพวาดปกสวยมาก ลายเส้นละเอียดมาก และไม่หยาบ มันดูลงตัวนะคะ ถึงแม้จะลายเส้นสวยงามแต่ก็ดูเข้ากับการต่อสู้อันดิบเถื่อนนี้ดี ภาพวาดก็ดูสมดุลไม่ผิดสัดส่วน การแสดงออกสีหน้าและอารมณ์ก็ถึงใจแบบไม่เอกแซจเจอเรทมากอย่างไททัน เนื้อเรื่องก็สนุกมาก ซับซ้อน แม้หลายท่านอาจจะเคยอ่านเรื่องทำนองนี้ผ่านนวนิยายเรื่องอื่นมาบ้าง แต่พอลองอ่านแบบการ์ตูนแบบนี้ คือมันสนุกมากอ่ะเอาจริง
นอกจากเนื้อเรื่องที่เน้นไปทางการวางกลศึกที่ฉลาดซับซ้อนและความตื่นเต้นในสงคราม อ่านบางตอนแล้วก็ขนลุกเลยค่ะโดยเฉพาะตอนแรกๆ แต่นี่ก็ไม่ใช่การ์ตูนบ้าเลือดอย่างเดียว ดิฉันว่านี่เป็นการ์ตูนปราชญ์ฉบับเยาวชนย่อมๆ คือผู้อ่านจะได้รับแนวคิดใหม่ๆที่ปรากฏขึ้นผ่านชีวิตของลี่ เด็กที่อยู่ในราชวังแม้จะได้รับการขัดเกลาทั้งจากทางตรงและทางอ้อมจากบรรดาอาจารย์ทหารทั้งหลาย แต่เมื่อลองมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองและประสบกับปัญหา สงคราม สถานการณ์จริงๆเองก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทุกๆบทจะมีคำคมจีนๆคอยสอดแทรกมาตลอดเวลา นอกจากความสนุกแล้ว ขอบอกว่าเรื่องนี้ประเทืองปัญญามากตัวอย่างเช่น
อันนี้เป็นคำคมที่ลี่พูดแล้วดิฉันประทับใจมากที่สุด
“จักรพรรดิทั้งหลายต่างต่อสู้เพื่อบัลลังก์ ชนะและแพ้ ทว่าประชาชนคือผู้สูญเสียทุกอย่างในท้ายที่สุด”
สปอยส์เหตุการณ์ในคำพูด : ขณะลี่ได้รับการช่วยเหลือจากวัด ตอนที่พูดนี้พูดกับซิสเซอร์ Wang Ah Bi ตอนกำลังเดินซื้อของในเมือง
นอกจากนี้ยังมี
“เส้นแบ่งระหว่างการป้องกันตัวเองกับการคุกคามผู้อื่นนั้นช่างบางเฉียบ
ไม่ง่ายเลยที่รู้ว่าตนเองอยู่ฝ่ายไหน”
เป็นตอนที่อาจารย์ของลี่สอนลี่เมื่อตอนเด็กๆ
ตอนที่ลี่บอกว่าตนเรียนรู้วิชาศิลปะป้องกันตัวเพื่อปกป้องตัวเองจากการรังแกของพวกพี่ๆ
“เจ้ารู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่ข้าอยากปกป้องมากที่สุดในเมืองนี้ สิ่งที่ข้าต้องการจะปกป้องไม่ใช่กองกำลังทหารที่ข้ามี แต่มันคือตัวเมืองโชวนี้เอง ที่ที่พลเมืองสามารถอาศัยอยู่อย่างสงบสุขได้ข้างใน”
เป็นตอนที่เจ้าเมืองพูดกับลี่ขณะวางแผนรับมือจากพวกเติร์ก
อีกบทสนทนาที่ชอบก็คือ
“จะไม่อธิบายหน่อยหรือ ?”
“สำคัญด้วยหรือว่าความจริงคืออะไร เพราะสุดท้ายทุกคนต่างก็เชื่อในสิ่งที่เราต้องการจะเชื่อ”
“เห...เจ้าเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ดีนี่”
“บางที เมื่อความกลัวและความโกรธได้ทะยานสู่จุดหนึ่งที่เหนือการวัดค่าได้ ผู้คนเลือกที่จะหันไปพึ่งความโกรธแค้น ตราบที่พวกเขายังมีความโกรธแค้น พวกเขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้”
Spoilers alert : เซอร์มูจินพูดกับลี่ตอนที่คนในเมืองโชวพากันประณามลี่ว่าไปเข้าข้างพวกเติร์กเพื่อเอาชีวิตรอดและทำให้เจ้าเมืองของพวกเขาต้องตาย แท้จริงแล้วลี่หยิบยื่นเงื่อนไขเพื่อไม่ให้พวกเติร์กคุกคามและทำให้พลเมืองบาดเจ็บ
เป็นต้นค่ะ จริงๆก็มีอีกเยอะมากค่ะ ดิฉันก็ชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก เวลาอ่านนอกจากจะสนุกตื่นเต้น จนทำให้ต้องอ่านย้อนไปย้อนมาซ้ำซากตลอดเวลา อีกเรื่องคือดิฉันจะมีอิมเมจิ้นไม่หยุดค่ะ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงแล้วก็จะอดนึกถึงเรื่องรักๆใคร่ๆไม่ได้ แม้ในการ์ตูนจะไม่มีประเด็นนี้มาให้โผล่ก็ตาม Spoilers alert : เช่นความสัมพันธ์ของลี่กับอาชิน่า ซัน ที่เหมือนผู้เขียนจะล็อกหวยไว้ให้แล้ว ดูมีความสัมพันธ์ที่ได้รับการปูเรื่องมาแต่ต้น (เช่น ตอนเด็กๆพ่อขอให้ลี่ที่เป็นลูกสาวคนเดียวไปแต่งงานกับพวกเติร์กเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีแต่ลุงของลี่คัดค้านเพราะพวกเติร์กไว้ใจไม่ได้) และตอนที่อาชิน่ารู้ว่าลี่เป็นผู้หญิงจากคำพูดของผู้เฒ่าฉิน โอย เขินมาก มาก มาก กรี๊ด และก็จะคอยจิ้นเรื่องนี้ตลอดเวลาค่ะเพราะผู้เขียนไม่ยอมเขียน เลยต้องคิดเอง
การ์ตูนเรื่องนี้สนุกมากค่ะ พล็อคดี ภาพสวย ได้ความคิดมาหลายแง่มุม และก็ได้จินตนาการเยอะดี(อาจเป็นดิฉันที่ชอบจิ้นอยู่คนเดียว) แต่เป็นเรื่องที่ดิฉันอ่านรวดเดียวจบและอ่านซ้ำๆซาๆมาจะยี่สิบรอบแล้วด้วยความติดใจ แนะนำให้ไปอ่านในเว็บ Mangapark เนื่องจากสามารถอ่านได้โดยไม่ต้องคลิก next next next ให้เสียเวลาเพราะมีปุ่ม all image ขึ้นทีเดียวให้อ่านกันหกสิบหน้าสะใจ
อ่านเรื่องนี้จนถึงตอนล่าสุด ดิฉันก็นึกถึงประโยคหนึ่งว่า “On apprend tout en voyageant” คือเราเรียนรู้ทุกสิ่งจากการเดินทางค่ะ นิยามของคำว่าการเดินทางมีหลายรูปแบบ การเดินทางอันยาวนานของลี่ก็เช่นเดียวกัน เธอเรียนรู้อะไรจากการเดินทางชีวิตของเธอครั้งนี้ หรือเธอแค่คิดว่ามันเป็นทางผ่านและประสบการณ์ในชีวิตเธอเท่านั้น
การเดินทางที่คุณคาดหวัง ควรจะเป็นแบบไหนกัน อะไรที่เราต้องเรียนรู้จากมัน
ก็ยากที่จะตอบ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://m.exteen.com/blog/catamorphosis/20140216/manga-review-song-of-the-long-march-xia-da
ความคิดเห็น